ผู้ที่มีอายุเกิน 50 ปีขึ้นไป มักจะพบว่าตนเองเริ่มมีอาการปวดเมื่อยตามเนื้อตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การปวดตามข้อต่างๆ เช่น ปวดข้อต่อ ปวดเข่า ปวดข้อมือ ปวดสะโพก ปวดหัวไหล่ บางท่านอาจจะมีอาการ ปวดกระดูก ตอนกลางคืน หรือ ปวดเอวร้าวลงขา เป็นต้น อาการปวดหลากหลายตำแหน่ง หลากหลายชนิดนี้ บางทีก็ยากที่จะบรรยายได้ว่า มันเป็นอย่างไร ยิ่งถ้าได้ไปพบแพทย์ กว่าจะอธิบายลักษณะอาการปวดให้เข้าใจได้ ก็ไม่รู้จะสรรหาคำมาบรรยายได้ว่าเป็นอาการปวดอย่างไร แต่การอธิบายหรือบรรยายอาการปวดให้ได้ชัดเจน จะช่วยให้แพทย์วิเคราะห์ได้ว่า อาการปวดนี้เป็นมาจากกระดูกอักเสบ เส้นเอ็นอักเสบ หรือ กล้ามเนื้ออักเสบ เพื่อจะได้ทำการวินิจฉัยและรักษาต่อไปให้ตรงจุด
อาการปวด คืออะไร ทำไมต้องปวด
ปวดแบบโรคข้อเสื่อม มันเป็นอย่างไรกัน
เวลาเราจะบรรยายความปวดให้คนรอบข้างหรือแพทย์รับฟัง เราควรจะอธิบายให้บุคคลเห็นเข้าใจได้แจ่มชัด ว่าอาการปวดอยู่ที่จุดใด ปวดมากแค่ไหน และปวดจนส่งผลอย่างไร เพื่อให้แพทย์ช่วยวินิจฉัยได้ถูกต้อง
เรามาดูกันว่า ลักษณะอาการ สัญญาณต่างๆ ต่อไปนี้ของ โรคข้ออักเสบ มีอะไรบ้าง เพื่อช่วยให้คุณบรรยายความเจ็บปวดให้แพทย์ฟังได้เข้าใจตรงตามอาการปวดของคุณ
- อาการปวดเข่า แบบฝังลึกอยู่ในหัวเข่าข้างใน
- อาการปวดเข่า แบบถ้าได้พักเฉยๆ จะทุเลาลง
- อาการปวดข้อ แบบไม่ค่อยปวดในตอนเช้า แต่จะปวดมากขึ้นเรื่อยๆ ในระหว่างวัน
- อาการปวดข้อ แบบแพร่ซ่านไปที่ก้น ต้นขา และบริเวณขาหนีบ
- อาการปวดเข่า ที่ส่งผลให้ยืนไม่ได้ เดินไม่ได้ หรืออาจต้องเดินกระเผลก
- อาการปวดหลังร้าวลงขา โดยเฉพาะตำแหน่งบั้นเอว ชาลงไปตามเส้นประสาทขา
- อาการปวดคอร้าวลงแขน มีความรู้สึกท่อนแขนตึง ชา
- อาการปวดคอร้าวลงมือ มีความรู้สึกชาที่มือ นิ้วแข็ง กำมือได้ไม่แน่น
- อาการปวดบวมที่ข้อต่อ ขนาดข้อต่อใหญ่ขึ้น
- อาการปวดร้าวลงไปที่ก้นกบ เวลาไอจามจะเจ็บร้าวลงไปที่หลัง
- อาการปวดข้อต่อ หลังจากมีการใช้งานข้อต่อนั้น
- ไม่สามารถเคลื่อนไหวข้อต่อได้เหมือนที่เคย
- มีความรู้สึกเหมือนกระดูกถูกขูดครูดเวลาขยับข้อต่อ
- อาการปวดเข่า จากกิจกรรมบางอย่าง เช่น ยืนขึ้นมาจากท่านั่ง หรือขึ้นลงบันได
- อาการปวดเข่า ที่รบกวนการทำงาน กิจวัตรประจำวัน และการออกกำลังกาย
- อาการข้อเข่าติดขัดในตอนเช้า แล้วค่อยคลายลงในระหว่างวัน
- อาการข้อต่อติดขัด ถ้าไม่ได้ใช้งานใดๆ
อาการปวด ของ โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ เป็นอย่างไร

อาการปวดของ โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ เป็นอะไรที่สุดจะคาดเดาได้ และมีอาการที่หลากหลาย จากคำบอกเล่าของผู้ป่วยโรครูมาตอยด์ บอกว่า บางครั้งก็ร้อนเหมือนถูกไฟเผา บางครั้งก็ปวดตุบๆ แบบที่เกินจินตนาการ บางครั้งก็ปวดเหมือนอยากจะตัดเท้าหรือตัดมือทิ้งไปเลย เพราะปวดสุดแสนจะทนได้แล้ว
เนื่องจาก อาการปวดของ โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ เป็นอาการอักเสบแบบเรื้อรัง หากไม่ได้รับการรักษาแต่เนิ่นๆ จะทวีอาการรุนแรงขึ้นตามลำดับ แต่หากตรวจพบได้เร็ว ได้รับการรักษาเร็ว จะช่วยลดการทำลายของข้อต่อได้ถึง 90% ของจำนวนผู้ป่วยเลย
นอกเหนือจากอาการปวดข้อต่ออย่างรุนแรงแล้ว ลักษณะอาการอื่นๆ ที่มาพร้อมกับอาการปวดของ โรครูมาตอยด์ ก็จะมีดังนี้
- อาการปวดข้อต่อที่เกิดขึ้นพร้อมๆ กันทั้งสองข้าง เช่น ปวดเท้าทั้งสองข้าง ปวดเข่าทั้งสองข้าง ปวดข้อมืดทั้งสองข้าง เป็นต้น
- อาการข้อติดขัดอย่างรุนแรงในตอนเช้า
- ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อทั้งร่างกาย
- กล้ามเนื้ออ่อนแรง
- อ่อนเพลีย เหนื่อยล้า ซึมเศร้า
- น้ำหนักลด ไม่มีความอยากอาหาร
- มีไข้เล็กน้อย
- มีอาการบวมตามต่อมต่างๆ ร่วมด้วย เช่น ต่อมน้ำเหลือง
- ปวดเข่า ปวดตามข้อต่อ และมีอาการแย่ลงถ้าหากนั่งเป็นเวลานาน
- อาการปวดที่เป็นๆ หายๆ บางช่วงก็ดีขึ้น บางช่วงก็ปวดหนัก แทนที่จะปวดอย่างค่อยเป็นค่อยไป
- ปวดอักเสบที่ข้อต่อ บวมร้อน
ความถี่ ความรุนแรง และสิ่งที่กระตุ้นอาการปวด
เมื่อคุณไปพบแพทย์ แพทย์จะวิเคราะห์ว่าอาการปวดของคุณมาจากภาวะข้อต่อเสื่อม หรือ ข้ออักเสบรูมาตอยด์ หรืออาการอักเสบจากสาเหตุอื่น โดยการสอบถามคำถามต่างๆ เช่น
- อธิบายความปวดว่าเป็นแบบไหน
- อาการปวดเกิดขึ้นในช่วงเวลาใดของวัน
- อาการปวดเกิดขึ้นถี่แค่ไหน
- อาการปวดรุนแรงในระดับใด โดยให้บอกคะแนน 1 ถึง 10 โดย 1 แทบจะไม่ปวดเลย จนถึง 10 คือปวดจนทนไม่ไหว
- อธิบายว่าอาการปวดส่งผลกระทบต่อการทำกิจกรรมอะไรบ้าง เช่น ไม่สามารถนั่งขับรถได้
- ลองสังเกตว่าถ้าทำอย่างไรจะช่วยให้อาการปวดดีขึ้น หรือถ้าทำอย่างไรแล้วจะทำให้ปวดมากขึ้น
- อธิบายว่าอาการปวดส่งผลกระทบต่ออวัยวะอะไรบ้าง เช่น ยกแขนขึ้นไม่ได้
- เลือกใช้คำที่สาธยายให้เห็นภาพลักษณะของอาการปวด เช่น เหมือนถูกครูด เหมือนมีของแหลมคมทิ่ม ปวดแบบเต้นตุบๆ ปวดเหมือนถูกบดขยี้ ปวดแบบตื้อๆ ปวดแบบถูกเผาหรือลวก เป็นต้น
การจดบันทึกประวัติอาการปวดเอาไว้เป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์เวลาไปพบแพทย์ เนื่องจากเวลาที่คุณมีอาการปวด คุณไม่อยากจะทำอะไรแล้วในชีวิต หากคุณไม่จดบันทึกไว้ เมื่อเวลาผ่านไปคุณจะลืมรายละเอียดต่างๆ แน่นอน คุณอาจจะให้คนที่อยู่รอบตัวคุณช่วยบันทึกรายละเอียดเอาไว้ ตัวอย่างการจดบันทึกรายละเอียด เช่น
“มีอาการ ปวดเข่าข้างซ้าย เมื่อตื่นนอนในตอนเช้า รู้สึกปวดเสียดจี๊ดๆ อยู่ในหัวเข่าข้างใน ปวดอยู่ในระดับ 7 ไม่สามารถเหยียดเข่าให้ตรงได้ ต้องนั่งพักอยู่ประมาณครึ่งชั่วโมง จึงค่อยงอเข่าได้บ้าง แล้วจึงค่อยๆ ลุกขึ้นยืนได้ ต้องค่อยๆ ก้าวเดินช้าๆ แต่เมื่อเริ่มทำกิจกรรมอย่างอื่นได้ อาการปวดเข่า ก็เบาลง จนแทบจะไม่มีอาการปวดเหลืออยู่เลย แต่ถ้าไปนั่งขับรถเมื่อใด ก็จะรู้สึกว่า ปวดเข่า เหมือนมีเข็มทิ่มอยู่ข้างในมากขึ้นเรื่อยๆ สามารถขับรถได้ไม่เกิน 30 นาที ต้องออกมาขยับเข่า พักนอกรถ อาการปวดเข่า จะเป็นอีก ถ้าได้นอนพักนานๆ สักระยะ สังเกตได้ว่า ถ้าหยุดพักการใช้เข่าเป็นเวลานาน หัวเข่าจะขัด แล้วเกิดอาการปวดขึ้นมา แต่ถ้ามีการขยับ หมุน เคลื่อนไหวหัวเข่าเบาๆ อยู่เรื่อยๆ อาการปวดจะทุเลาลง”
การจดบันทึกเช่นนี้ ช่วยให้แพทย์เข้าใจถึงอาการปวดที่คุณเผชิญอยู่อย่างละเอียด และจะช่วยวินิจฉัย และตัดสินใจในการรักษา โรคข้อต่ออักเสบ ของคุณได้อย่างตรงจุด