ถ้าปวดหลัง ต้องเข้าใจสรีระก่อน
ไซติก้า เป็นโรคที่มาจากการอักเสบของเส้นประสาท ที่ทำหน้าที่ควบคุมการทำงานของขา เส้นประสาทเส้นนี้มีชื่อว่า เส้นประสาทไซติก (Sciatic)
เส้นประสาทไซติก นับว่าเป็นเส้นประสาทเส้นใหญ่ที่สุดและยาวที่สุดของร่างกาย มีขนาดหนาเท่านิ้วก้อย ออกมาจากไขสันหลัง เริ่มต้นจากบริเวณสะโพก และวิ่งตรงลงมาทางด้านหลังของต้นจา เมื่อมาถึงบริเวณข้อพับเข่าจะแยกออกเป็น 2 แขนง ไปเลี้ยงด้านหน้าและด้านหลังของขาและเท้า ตลอดแนวทางที่เส้นประสาทไซติกวิ่งผ่านลงมาจะถูกปกคลุมไว้ด้วยกล้ามเนื้อขา ซึ่งมีขนาดเป็นมัดใหญ่และแข็งแรงมาก เส้นประสาทเส้นนี้จะทำหน้าที่ควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อขาเกือบทุกมัด ดังนั้น ถ้าประสาทไซติกถูกตัดหรือถูกทำลายไป ขาข้างนั้นก็จะเป็นอัมพาตไปทั้งหมดเลยทีเดียว
อาการของโรคไซติก้า หรือ เส้นประสาทขาอักเสบ จะเกิดขึ้นบ่อยๆ โดยมีอาการปวดเอว ปวดสะโพก ปวดหลัง และปวดร้าวลงไปตลอดขาข้างนั้น อาจจะมีหลายโรคที่มีอาการปวดเอว หรือปวดขา อย่างใดอย่างหนึ่ง แต่โรคไซติก้าจะเป็นโรคหนึ่งที่ปวดเอวและปวดขาพร้อมๆ กัน
ปวดหลัง ลงขา มาเข้าใจสรีระกันก่อน
กระดูกสันหลังของคนเราประกอบไปด้วยกระดูกทั้งหมดเป็นข้อๆ รวมกัน 26 ข้อ วางเรียงลดหลั่นกันลงมาตั้งแต่กระดูกต้นคอจนสุดที่กระดูกก้นกบ ด้านหลังตลอดแนวกระดูกสันหลังจะมีเส้นประสาทไขสันหลังต่อลงมาจากสมอง ไขสันหลังนี้จะถูกโอบล้อมอยู่ด้วยส่วนของกระดูกส้นหลังแต่ละข้อ จากไขสันหลังจะมีเส้นประสาทที่แยกแขนงออกไป และมีเส้นประสาทเข้ามาสู่ไขสันหลังโดยจะมีช่องทางให้เส้นประสาทเข้าและออกจากไขสันหลังระหว่างกระดูกสันหลังแต่ละข้อตลอดแนวไขสันหลัง
นั่นก็คือ ตลอดแนวไขสันหลัง แต่ละช่องของกระดูกข้างซ้ายและขวา ต่างก็จะมีเส้นประสาท 2 ชนิดที่เข้าและออกจากไขสันหลัง
ชนิดแรก เป็นเส้นประสาทที่ออกไปจากไขสันหลัง ไปควบคุมกล้ามเนื้อ (Motor Function) โดยคำสั่งจากสมองมาควบคุมให้กล้ามเนื้อทำหน้าที่เพื่อให้มีการเคลื่อนไหวตามอำนาจของจิตใจที่ต้องการให้กระทำ
ชนิดที่สอง เป็นเส้นประสาทที่จะรับความรู้สึกต่างๆ จากผิวภายนอกร่างกาย (Sensory Function) ได้แก่ ความรู้สึกเจ็บ ความรู้สึกร้อนเย็น ความรู้สึกสัมผัส เป็นต้น เส้นประสาทจะรับความรู้สึกนี้ไปสู่ไขสันหลัง และไขสันหลังจะส่งต่อไปยังสมอง ซึ่งจะเกิดความรู้สึกนั้นๆ ได้
เส้นประสาทไซติก (Sciatic) เป็นเส้นประสาทที่มาจากไขสันหลัง แต่เส้นประสาทไซติกนี้จะมีเส้นประสาททั้ง 2 ชนิดรวมอยู่ด้วยกัน คือ มีทั้งเส้นประสาทควบคุมให้กล้ามเนื้อขาทำหน้าที่เคลื่อนไหว และเส้นประสาทที่รับความรู้สึกต่างๆ จากขาด้วย ดังนั้น หากเกิดความผิดปกติอย่างใดกับเส้นประสาทไซติก ก็จะเกิดภาวะอัมพาตกับขานั้น โดยกล้ามเนื้อขาไม่ทำหน้าที่ ขาจะไม่มีการเคลื่อนไหว และขาจะไม่มีความรู้สึกอย่างใด
โรคไซติก้า (Sciatica) หรือเส้นประสาทขาอักเสบ จะมีอาการปวดบั้นเอว ปวดหลัง ปวดสะโพก ปวดต้นขา เรื่อยลงไปตลอดขา โดยเกิดจากเส้นประสาทได้รับการกดเบียดทับและระคายเคือง หรือมีอาการอักเสบที่ตัวเส้นประสาทเอง ทั้งนี้ ต้นเหตุมาจากช่องของกระดูกสันหลังที่ปกติเส้นประสาทผ่านเข้าออกจะมีขนาดเท่ากับตัวเส้นประสาทที่พอจะให้ผ่านได้พอดิบพอดี ถ้าจะมีสาเหตุใดเกิดขึ้นที่กระดูกสันหลังจนทำให้ช่องทางนี้ถูกเบียด ถูกกด หรือทำให้ช่องนั้นเล็กแคบลง เส้นประสาทไซติกจะถูกบีบ เบียด กด ทับ เส้นประสาทนั้นก็จะเกิดการอักเสบหรือช้ำจนเกิดโรคไซติก้าได้ และถ้าหนักสุด คือเส้นประสาทอาจถูกทำลายให้ใช้การไม่ได้เลย
หมอนรองกระดูก คือ ต้นตอสำคัญ
อีกสาเหตุหนึ่งที่คนในยุคปัจจุบันเป็นกันมาก ก็คือ หมอนรองกระดูกสันหลังเกิดการเสื่อมสภาพ เสียหาย หรือเกิดความผิดปกติจากสภาพเดิมไป หมอนรองกระดูกสันหลังจะคั่นอยู่ระหว่างข้อกระดูกสันหลัง เป็นโครงสร้างที่ทำให้แท่งกระดูกสันหลังทั้งแท่งยืดหยุ่น ส่วนเปลือกของหมอนรองกระดูกจะถูกยืดเมื่อเคลื่อนไหว ก้ม เงย บิดตัว ดังนั้นแล้ว หากเคลื่อนไหวผิดจังหวะหรือรุนแรงเกินไป เช่น ก้มตัวยกของหนัก นั่งหลังงองุ้มจนติดนิสัย หรือเกิดอุบัติเหตุล้มก้นกระแทกพื้นแรงๆ อาจทำให้เปลือกของหมอนรองกระดูกฉีกขาด วุ้นตรงกลางจะไหลออกมา หมอนรองกระดูกโป่ง ปลิ้น ไปกดทับเส้นประสาท เกิดอาการ ปวดหลัง ขาชา ปวดสะโพก ชาร้าวลงขา กล้ามเนื้ออักเสบ กล้ามเนื้ออ่อนแรง กระดกข้อเท้า กระดกนิ้วเท้าไม่ขึ้น อาการปวดร้าวลงขานี้ อาจเป็นมากเมื่อแอ่นตัวและเอียงด้านที่ปวด ทำให้ผู้ป่วยหลังค่อม ตัวเอียง สะโพกโย้
ภาวะหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท ส่งผลให้เกิดโรคไซติก้า หรือ เส้นประสาทขาอักเสบนี้ อาจมีอาการแตกต่างกันไปได้ในแต่ละบุคคล มากบ้างน้อยบ้าง แต่อาการที่สำคัญก็คือ ปวดหลังส่วนล่าง เจ็บปวดสะโพก ปวดขาข้างเดียว บางรายเริ่มต้นก็เจ็บปวดมากเลยในทันที บางรายเกิดขึ้นทีละน้อยจนปวดมากในที่สุด
หลายคนมีอาการเป็นปกติดีตลอดมา จนมาถึงเช้าวันหนึ่ง พอลุกจากเตียงนอนเท่านั้นแหละ จะรู้สึกว่าขาข้างหนึ่งอยู่ๆ ก็หมดกำลังไป และรู้สึกเจ็บปวดที่บั้นเอวลงมาที่สะโพก ร้าวลงไปจนถึงน่องโดยปวดขึ้นมาทันที ยิ่งขยับเขยื้อนตัวหรือจะก้าวเดินก็ยิ่งปวดมากยิ่งขึ้น บางคนเริ่มต้นอาการเจ็บเล็กน้อยอยู่นานหลายวันโดยไม่เจ็บปวดมากหรือใช้ขาไม่ได้ จึงไม่ได้สนใจนัก คิดไปว่าเป็นเพียงขัดยอกหรือปวดเมื่อยขาเล็กน้อยเท่านั้น
ลักษณะอาการของโรคกระดูกทับเส้นที่ชัดเจนที่สุด ก็คือ ปวดหลังส่วนล่าง เรื่อยลงมาปวดสะโพก ร้าวลงไปจนถึงน่องและเท้า อาการปวดนี้มีอยู่ตลอดเวลา ถ้านอนนิ่งๆ จะทุเลาปวด โดยเฉพาะนอนในท่างอเข่าหรือชันเข่าข้างนั้นจะหายปวดไปได้บ้าง อาการปวดจะมีมากขึ้น เวลาที่ไอ จาม เบ่งถ่ายอุจจาระ หรือเมื่อก้ามตัวลงขณะที่ขาทั้งสองข้างยืนตรง บางทีถ้ากดตามแนวเส้นประสาทไซติกก็จะเจ็บตามจุดที่กด มีบางรายที่รู้สึกชาหรือหมดความรู้สึกของเท้าข้างที่เป็นไซติก้า
วิธีการตรวจอีกทางที่อาจตรวจเองได้เมื่อเป็นกระดูกทับเส้น เส้นประสาทขาอักเสบ คือ ให้นอนหงายบนเตียง ขาข้างไม่เจ็บให้เหยียดตรง ขาข้างเจ็บให้งอเข่าและงอสะโพก ให้ต้นขางอเข้ามาหาหน้าท้องเล็กน้อย แล้วเหยียดขาให้ชูตรงขึ้นไป จะเจ็บสะโพกร้าวมาที่ขาอย่างหนักทันที
สาเหตุของกระดูกทับเส้น มีอะไรบ้าง
การนั่งนานๆ ในเก้าอี้ที่ออกแบบไม่ถูกสรีระศาสตร์ หรือนั่งในท่าไม่ถูกต้อง ก็เป็นสาเหตุอย่างหนึ่งที่ทำให้หมอนรองกระดูกบิดโค้งงอ ส่งผลให้เสื่อมสภาพ โป่งปลิ้น หรือฉีกขาด จนวุ้นออกมากดทับเส้นประสาทไซติก ปัจจุบัน ผู้คนใช้ชีวิตอยู่กับการนั่งวันละ 8-10 ชั่วโมง ทำให้หมอนรองกระดูกถูกน้ำหนักกดทับบิดปริแตกได้เร็วกว่าที่ควรจะเป็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนในวัยทำงานออฟฟิศ ก็จะเป็นโรค ออฟฟิศซินโดรม จึงไม่แปลกใจเลย ที่จะเห็นคนเป็นโรคกระดูกทับเส้น และไซติก้า มีอายุเฉลี่ยที่ลดลงเรื่อยๆ พออายุ 30 ปี ก็เริ่มเป็นโรคนี้กันเยอะมากขึ้น
ผู้ที่ขับรถยนต์ไประยะทางไกลๆ หรือนั่งขับรถอยู่นานมาก เพราะรถติดหลายชั่วโมง แล้วต้องนั่งอยู่ในท่านั่งที่ไม่ถูกต้อง หมอนรองกระดูกถูกน้ำหนักกดทับไว้ หรือถูกยืดรั้งค้างเอาไว้เป็นเวลานาน ก็จะบาดเจ็บเสียหาย ส่งผลให้หมอนรองกระดูกโป่งปลิ้นออกมาเบียดทับเส้นประสาทได้ แต่ส่วนมากก่อนที่จะมีอาการไซติก้าได้ มักจะรู้สึกชาขาข้างนั้นก่อน ทำให้ต้องเปลี่ยนท่านั่ง หรือหยุดขับรถ แล้วลุกจากที่นั่งลงจากรถมาเดินเป็นการเหยียดแข้งเหยียดขาให้หายเมื่อย เส้นประสาทคลายจากการถูกกดจึงยังไม่ถึงกับเกิดการอักเสบมากนัก
ผู้โดยสารรถยนต์เดินทางไปทางไกลเป็นเวลานาน มักจะสังเกตตนเองได้ว่า บางทีก็มีอาการปวดหลัง ปวดขาเส้นตึง อย่างที่กล่าวเหมือนกัน ถ้านั่งอยู่กับที่โดยเปลี่ยนอริยาบถไม่ได้สะดวก และถนนหนทางขรุขระเป็นหลุมเป็นบ่อ รถแล่นไม่เรียบและกระแทกกระเทือนไปตลอดทาง ถ้าไม่ได้หยุดพักรถเลย หรือไม่หยุดรถให้ลงไปเดินเล่นบ้าง ก็อาจเกิดไซติก้า เส้นประสาทขาอักเสบ ทั้งปวดชาขาข้างนั้นได้
เมื่อมีอุบัติเหตุอย่างใดที่กระทบกระเทือนกระดูกสันหลัง ถ้ามีหมอนรองกระดูกเคลื่อนออกมาจากข้อ หรือหมอนรองกระดูกแตกในบริเวณหรือตำแหน่งกระดูกสันหลังตอนล่างสุด และหมอนรองกระดูกที่แตกหรือเคลื่อนออกมานั้นกดที่โคนเส้นประสาทไซติก ก็จะเกิดไซติก้า เกิดอาการปวดเอวร้าวลงขา ปวดสะโพกร้าวลงขา ปวดขาชาปลายเท้า ปวดเส้นเอ็นขา สุดแล้วแต่อาการของแต่ละบุคคลตามตำแหน่งที่เส้นประสาทจะโดนระคายเคือง
สาเหตุที่อาจเกิดไซติก้า เส้นประสาทขาอักเสบได้อีกประการหนึ่ง คือ การอักเสบของกล้ามเนื้อที่อยู่ใกล้ชิดหรือกล้ามเนื้อที่ปกคลุมเส้นประสาทไซติก กล้ามเนื้อและพังผืดของกล้ามเนื้อที่อักเสบจะกดรั้งหรือบิดประสาทไซติกทำให้เส้นประสาทขาอักเสบ อาการของไซติก้าที่เกิดขึ้นอาจมีได้มากหรือน้อยแล้วแต่การอักเสบของกล้ามเนื้อนั้นมีผลเกี่ยวข้องกับส้นประสาทไซติกมากน้อยเพียงใด
ผู้หญิงมีครรภ์ โดยเฉพาะเมื่อมีครรภ์แก่ มักจะปรากฎอาการของไซติก้าได้เสมอ เนื่องจากมดลูกที่โตขึ้นๆ ไปกดบริเวณทางออกของประสาทไซติกจึงกดโคนเส้นประสาท เวลาที่มดลูกบีบรัดตัว ยิ่งจะกดโคนเส้นประสาทได้มาก ผู้หญิงที่มีครรภ์แก่ เวลาเดินๆ อาจจะปวดสะโพกร้าวลงขา ลงน่องอย่างทันที ถึงกับต้องชะงักหยุดเดิน ต้องอยู่นิ่งๆ หรือลงนั่งสักพักหนึ่ง เมื่อคลายอาการเจ็บจึงจะเดินต่อไปได้
เนื้องอกขนาดใหญ่ในมดลูก หรือเนื้องอกอย่างใดที่เกิดขึ้นในอุ้งเชิงกรานก็อาจกดโคนเส้นประสาทไซติก และมีอาการไซติก้า ปวดสะโพกร้าวลงขาได้
มะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งทวารหนัก อาจแพร่กระจายไปงอกที่กระดูกสันหลังและกระดูกเชิงกราน ก็อาจเกิดโคนเส้นประสาทไซติก้าได้เช่นกัน
บางทีไซติก้าก็เกิดขึ้นร่วมกับอาการท้องผูกมากๆ ได้ เพราะอุจจาระก้อนโตและแข็งซึ่งขังอยู่ในลำไส้ใหญ่กดลงบนโคนเส้นประสาทไซติก หรือเมื่อเป็นไซติก้าและเบ่งถ่ายอุจจาระก็จะยิ่งเจ็บปวดมาก เลยไม่กล้าถ่ายและไม่ยอมไปถ่ายอุจจาระออก ในที่สุดก็เกิดท้องผูกเรื้อรัง
การรักษาโรคกระดูกทับเส้น ไซติก้า เส้นประสาทขาอักเสบ ก็ต้องดูที่ต้นเหตุเป็นสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่พฤติกรรมการใช้ร่างกายที่ส่งผลให้หมอนรองกระดูกสันหลังเกิดความเสียหายบาดเจ็บ ถ้าหากวิเคราะห์และพบแล้ว พึงพยายามงดเว้นหลีกเลี่ยงพฤติกรรมนั้น เพื่อให้หมอนรองกระดูกฟื้นรักษาตัวเอง ภาวะการกดทับเส้นประสาทก็จะคลายออก ส่งผลให้การอักเสบทุเลาลง