โรคข้อเสื่อม คืออะไร

โรคข้อเสื่อม (Osteoarthritis) หรือโรคข้อกระดูกอ่อนเสื่อม ม้กจะเริ่มต้นเกิดกับคนในช่วงอายุวัยกลางคนขึ้นไป (อายุ 40 ปีขึ้นไป) และเป็นมากขึ้นเมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุแล้ว (อายุ 60 ปีขึ้นไป) ผู้หญิงเป็นได้มากกว่าผู้ชาย อาการส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นที่ข้อเข่า ข้อกระดูกสันหลัง และหมอนรองกระดูก การอักเสบของข้อเกิดจากผลของความเสื่อมสภาพภายในข้อกระดูกนั้นๆ

ลุกโอย นั่งโอย เสียงร้องประจำตัวคนข้อเสื่อม

ผู้สูงอายุทุกคนคงจะสังเกตตัวเองว่า พออายุมากขึ้น ร่างกายจะเปลี่ยนแปลงในด้านเสื่อมสภาพลง เช่นเริ่มมีอาการปวดขัดที่ข้อและเข่า เอว ไหล่ หลัง ซึ่งเป็นอาการเตือนให้รู้ตัวว่าเข้าสู่วัยสูงอายุแล้ว พอมาถึงระยะนี้ พูดได้ว่า อะไรๆ ก็ช่างขัดยอกไปทั้งเนื้อทั้งตัว จะนั่งจะลุกยืนแต่ละทีก็ปวดเมื่อยตามข้อ ปวดเข่า ปวดหลัง ปวดตามตัวจนต้องครางต้องร้องเพราะความปวดเมื่อยนี้ หรืออยู่ในสภาพ “ลุกโอย นั่งโอย” ฟังแล้วมองเห็นภาพผู้สูงอายุเวลานั่งเวลายืนได้เป็นอย่างดี ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะเมื่ออายุมากขึ้น ข้อต่อต่างๆ ก็อาจจะอักเสบ บ้างก็เป็นิดข้ออักเสบเรื้องรัง ซึ่งเป็นข้ออักเสบที่จะพบกันมากในผู้สูงอายุ ข้ออักเสบเรื้อรังที่เกิดขึ้นจากเสื่อมสภาพของข้อต่อตามวัยที่สูงขึ้นนี้ เรียกกันง่ายๆ ว่า โรคข้อเสื่อม ในผู้สูงอายุ

ปวดข้อเสื่อม ต้องเข้าใจสรีระ

ข้อต่อของกระดูกจะเกิดขึ้นจากปลายกระดูก 2 ชิ้นมาต่อกัน แล้วผูกพันยึดไว้ให้อยู่กับที่ด้วยพังผืด เอ็น และกล้ามเนื้อที่อยู่รอบๆ ข้อ รอบข้อต่อจะมีเยื่อบางๆ แต่เหนียวหุ้มชิดรอบข้อ เราเรียกว่า เยื่อหุ้มข้อ เยื่อหุ้มข้อนี้ยังมีส่วนที่ยื่นเขาไปคลุมตอนผิวของปลายกระดูกทั้ง 2 ของข้อด้วย เยื่อหุ้มข้อนี้จะขับน้ำใสๆ เหนียวเล็กน้อยเข้ามาอยู่ในข้อตลอดเวลา เพื่อช่วยในการหล่อลื่นข้อเมื่อข้อต่อคลื่อนไหว ไม่ให้ข้อฝืดและกันไม่ให้ปลายกระดูกชำรุดเสื่อมสภาพ เวลาที่ถูไถเสียดสีกันเมื่อข้อเคลื่อนไหว ที่ตอนปลายของกระดูกทั้ง 2 ของข้อยังมีแผ่นกระดูกเสื่อมได้มาก ดังนั้นตอนปลายกระดูกที่ประกอบขึ้นเป็นข้อต่อนี้ก็จะมีแผ่นกระดูกอ่อนติดอยู่ และมีเยื่อหุ้มข้อต่อคลุมปิดอีกชั้นหนึ่ง พร้อมกับมีน้ำในข้อหล่อลื่นอยู่ตลอดเวลา น้ำในข้อต่อนี้มักเรียกกันว่าไขข้อ

เมื่อข้อต่อถูกใช้งาน ข้อกระดูกมีการเคลื่อนไหว ถ้าใช้ข้อต่อมาก เยื่อหุ้มข้อจะขับน้ำนี้ออกมามาก แต่ถ้าข้อต่อไม่ถูกใช้งาน น้ำหล่อลื่นนี้จะมีออกมาน้อย

เมื่ออายุมากขึ้น เยื่อหุ้ม และเอ็นรอบๆ ข้อจะหย่อนยาน ผิวตอนปลายกระดูกที่เป็นข้อต่อจะถูไถเสียดสีกันมากขึ้น กระดูกอ่อนที่คลุมปลายกระดูกจะถูกทำลายทำให้แตกและแยกหลุดไป ตอนผิวของปลายกระดูกเมื่อไม่มีกระดูกอ่อนปิดคลุมอยู่ก็จะเสียดสีกัน เกิดความเสื่อมที่ปลายกระดูก ซึ่งก็คือความเสื่อมของข้อนั่นเอง ที่ตอบขอบของปลายกระดูกจะมีกระดูกงอกแหลมยื่นออกไปลักษณะคล้ายเดือยไก่ บางทีกระดูกที่งอกยื่นออกไปนี้จะแตกแล้วหลุดเข้าไปอยู่ในข้อต่อก็มี

เมื่อข้อนั้นได้รับการกระทบกระเทือนมากๆ ผู้ที่อ้วนมากหรือมีน้ำหนักตัวมากเกินไปจะเกิดข้ออักเสบเรื้อรังชนิดนี้ได้เร็วและเป็นได้มากโดยเฉพาะที่ข้อเข่าและหมอนกระดูกสันหลัง ซึ่งเป็นข้อต่อที่ต้องรักษาน้ำหนักตัวอยู่ตลอดเวลา เมื่ออายุมากขึ้น ข้อกระดูกก็เสื่อมโทรมได้ตามวัยที่สูงขึ้นอยู่แล้ว ประกอบกับคนส่วนมากเมื่ออายุมากขึ้นก็จะมีแนวโน้มที่จะอ้วนขึ้น การออกกำลังและการใช้ข้อก็น้อยลง ข้ออักเสบชนิดเสื่อมจึงเกิดขึ้นได้ เมื่อเกิดแล้วยังใช้นั้นต่อไปอีก น้ำที่ขับออกมาจากเยื่อหุ้มข้อก็ยิ่งน้อยลง ข้อจะฝืดเมื่อเคลื่อนไหวข้อ ทำให้ยิ่งขัดในข้อมากขึ้น ชาวบ้านมักเรียกว่ามี “ไขข้อแห้ง” ก็ด้วยเหตุผลดังกล่าว

อาการปวดของโรคข้อเสื่อม

อาการของโรคข้อเสื่อมจะเกิดขึ้นเมื่อเข้าสู่วัยกลางคน อาการเกิดขั้นทีละน้อยๆ และค่อยๆ เพิ่มมากขึ้น หรืออาจไม่มีอาการอย่างใด แต่เมื่อได้รับความกระทบกระเทือนที่ข้อสักเล็กน้อย เช่น ข้อเคล็ดเมื่อลื่นพลาดหรือล้ม ก็จะมีอาการขึ้นมาทันที

ข้อเข่าจะมีข้อเสื่อมและปรากฎอาการได้ชัดก่อนข้ออื่นๆ โดยจะมีอาการขัดๆ ในข้อ หรือข้อแข็งๆ ไปบ้าง และจะปวดเมื่อยๆ ในข้อ โดยเฉพาะเมื่อเริ่มต้นยืนหรือเดิน เป็นอยู่พักหนึ่งก็จะทุเลาขัด ถ้าเดินขึ้นที่สูงชันหรือก้าวขึ้นบันไดสูงๆ จะปวดขัดข้อมาก หลายคนจะบอกว่านั่งยองๆ แล้วจะลุกขึ้นยืนไม่สะดวก ต้องยันต้องเกาะยึดสิ่งที่อยู่ใกล้ๆ เมื่อจะยืนขึ้น บางคนเมื่ออากาศหนาวๆ จะปวดข้อข้อมากขึ้น หลายคนที่รู้สึกว่ามีเสียงลั่นกรุบกรับในข้อเวลาเคลื่อนไหว

อาการปวดข้อของข้อต่ออักเสบชนิดนี้มักเป็นๆ หายๆ บางครั้งปวดขัดมาก บางทีก็น้อย บางทีก็หายไปพักหนึ่ง แล้วกลับมาเป็นใหม่อีก แต่ข้ออักเสบในลักษณะนี้มีไม่มากนักที่จะกลายเป็นข้อแข็งไปเลย

ข้อสะโพกก็อาจมีข้ออักเสบเรื้อรังได้ ถ้าเกิดขึ้นที่สะโพก ไม่เพียงแต่จะปวดอยู่เฉพาะสะโพก หลายรายจะมีปวดร้าวลงมาที่ต้นขาจนถึงน่อง

กระดูกสันหลังจะมีข้ออักเสบพวกนี้ได้มาก โดยเฉพาะบั้นเอว หรือที่กระเบนเหน็บ ความปวดเมื่อยที่หลังและเอวนี้ทำให้คนอายุมากชอบให้คนมาบีบนวดหรือให้เด็กเหยียบ แต่ก็มีบางทีบีบนวดรุนแรงมาก กล้ามเนื้อช้ำไป วันรุ่งขึ้นปวดหลังปวดเอวมากจนหลังแข็งไปเลย บริเวณบั้นเอวบางทีก็ปวดมากและเกิดอาการเส้นประสาทขาอักเสบไปด้วย ที่ต้นคอก็อาจมีข้อกระดูกต้นคออักเสบในลักษณะเดียวกัน

ข้อไหล่บางทีก็เกิดโรคข้อเสื่อม ทำให้ปวดขัดข้อไหล่ ผู้สูงอายุมักบ่นปวดเมื่อยเข่า ปวดเอว ปวดหลัง ปวดไหล่ ซึ่งข้อเหล่านี้มักเกิดข้ออักเสบพร้อมๆ กันเสมอ

การตรวจภาพถ่ายเอกซ์เรย์ข้อที่เกิดโรคเสื่อมนี้ ถ้ายังอยู่ในระยะแรกๆ อาจไม่พบลักษณะที่ผิดปกติอย่างใดเลย แต่ในระยะหลังๆ เมื่อเป็นมากแล้วจะเห็นว่าปลายกระดูกที่ประกอบเป็นข้อนั้นจะเข้ามาชิดกันมาก คือช่องภายในข้อจะแคบลง ที่ผิวของปลายกระดูกทั้งสองนั้น จะขรุขระไม่เรียบ และตอนขอบๆ มีกระดูกงอก

โรคข้อเสื่อม การรักษา

การรักษาโรคข้อเสื่อม นอกจากใช้ยาซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นยาที่ช่วยระงับอาการปวดขัดข้อแล้ว การรักษาที่สำคัญนั้นก็คือ การให้กายภาพบำบัด ซึ่งได้แก่การให้ความร้อน การนวด และการให้ข้อนั้นทำงาน ความร้อนอาจใช้วิธีประคบร้อน หรือแช่น้ำร้อน แต่เราก็มีเครื่องมือที่ให้ความร้อนจากกระแสไฟฟ้า เครื่องนวด และมีการออกกำลังข้อ ทั้งนี้ต้องใช้วิธีการรักษาของนักกายภาพบำบัด โรคข้อเสื่อมที่จะต้องทำผ่าตัดนั้นมีได้น้อย

โรคข้อเสื่อมเกิดได้มากในผู้สูงอายุ ผู้หญิงเป็นได้มากกว่าผู้ชาย คนอ้วนจะเกิดโรคนี้ได้เร็วและอาการมาก ในการรักษานั้นจึงควรจะลดน้ำหนักตัวลงด้วย

ความสำคัญที่สุด คือ ต้องใช้ข้อต่อให้มาก คนเราพออายุมากขึ้น การทำงาน การออกแรง หรือการออกกำลังกายลดน้อยลงไปมาก มักจะอยู่นิ่งๆ นั่งๆ นอนๆ เป็นส่วนมาก เมื่อปวดขัดข้อต่อก็ยิ่งไม่ใช้ข้อนั้น เมื่อไม่มีการเคลื่อนไหวอย่างใด ก็ยิ่งปวดขัดข้อมากยิ่งขึ้นไปอีก

ข้อกระดูกก็คือบานพับ

ข้อกระดูกของคนเราเปรียบได้ง่ายๆ เหมือนบานพับประตู หน้าต่าง ถ้าประตูหน้าต่างไม่มีการปิดเปิดอยู่เสมอ แต่ปิดเอาไว้เป็นเวลานานๆ พอจะปิดเปิดแต่ละครั้งก็จะเกิดเสียงดัง เนื่องจากบานพับขึ้นสนิม ข้อของเราก็เหมือนกัน ถ้าไม่ให้เคลื่อนไหว ไม่ใช้งานให้มากหรือให้อยู่นิ่งๆ ไม่ช้าข้อก็จะฝืดและปวดขัด เพราะน้ำหล่อลื่นข้อแห้งไปอย่างที่พูดกันว่าไขข้อแห้ง ผู้สูงอายุจึงจำเป็นต้องมีการเคลื่อนไหวให้ข้อทำงาน หรือออกกำลังกายข้อเสมอ ออกกำลังข้อมาก็จะมีน้ำหล่อลื่นมาก ผู้สูงอายุอย่างน้อยก็ต้องเดินให้มากและเดินทุกวันเป็นประจำ

ข้ออักเสบเรื้อรัง เนื่องจากการมีอายุมาก หรือเรียกกันว่า โรคข้อเสื่อมจะเกิดได้ทุกคนที่มีอายุมากขึ้น แต่ก็มีทางที่จะให้เกิดช้า เมื่อเกิดก็ให้มีอาการน้อย และมีวิธีช่วยให้ทุเลามากๆ ได้ ถ้าหากได้ระวังตัวทะนุถนอมข้อต่อมาให้ดีตั้งแต่แรก และเมื่อเกิดอักเสบขึ้นก็เริ่มต้นรักษาตั้งแต่เริ่มต้น

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *